Wave Riders Technical Course Online

Wave Riders Technical Course Online
เรียน Technical Course online สามาร click ที่ ภาพเลย

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

Wave Riders ลุย เส้นทาง R3A - Part 1

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน 2555 ผมได้มีโอกาส ร่วมเดินทางไปกับคณะนักธุรกิจ ไปสำรวจเส้นทาง R3A ซึ่งจัดโดยสมาคม The Boss และ MPI เส้นทางเดินทาง จากฝั่งไทย(เชียงแสน-เชียงของ) เข้าสู่ลาว (ห้วยทราย-หลวงน้ำทา-บ่อเต็น-บ่อหาน) และเข้าสู่จีน (เมืองเชียงรุ่ง หรือจิ่งหง)

จากคำที่ว่า "อ่านตำราร้อยเล่ม หรือจะสู้เห็นด้วยตาเพียงครั้งเดียว" ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่เกิดกับผมในการเดินทางครั้งนี้ ในการเดินทางครั้งนี้ นอกจากจะได้เปิดมุมมองมากมาย ได้รับความรู้ประสพการณ์แล้ว ยังได้รับมิตรภาพดีๆ ของพี่น้องเพื่อนพ้องนักธุรกิจ ที่ไปด้วยกันอีกด้วย

จะค่อยๆ เล่าให้ฟัง เป็นตอนๆ ไปนะครับ ขอเริ่มอย่างนี้ก่อนละกัน ต้องเริ่มจาก ท่านผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง

.....

เติ้งเสี่ยงผิง เชื่อว่า วิธีการสร้างสรรค์ให้สังคมนิยมจีนให้ทันสมัย และมีเศรษฐกิจเฟื่องฟู ได้กำหนดเป้าหมายยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนชาวจีน จาก "ขจัดความยากจน" ไปสู่ "พอมีพอกิน" และ "กินอิ่มนอนอุ่น" จนกระทั่งเจริญเติบโตขึ้นเป็น "สังคมที่มั่งคั่งรุ่งเรือง" ด้วยวิถีแนวคิด "ปลดปล่อยความคิด... ยึดติดความจริง"
จากทฤษฎี สู่การปฏิบัติ เติ้งเสี่ยงผิง ประกาศยุทธศาสตร์ สร้างความมั่งคั่งให้จีน 8 มณฑลตอนใต้มีเส้นทางออกสู่ทะเล ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลนั้น เส้นทาง "คุนมั่ง-กงลู่" จึงเกิดขึ้น คือเส้นทางจากคุนหมิง เชื่อมต่อถึงกรุงเทพฯ นั่นเอง จากเดิมนครคุนหมิง ที่มีสภาพเป็นทุ่งนาถูกพัฒนาในทุกมิติในด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความตื่นตัวคึกคัก จนกลายเป็นนครใหญ่ที่มั่งคั่งทางตอนใต้ของประเทศจีนอย่างก้าวกระโดด
การพัฒนาทางเศรษฐกิจให้กับมณฑลยูนนาน จากพื้นที่ปิด ที่ไม่มีทางออกทะเล สภาพภูมิประเทศที่ใช้ในการติดต่อเดินทางมาสู่ภาคตะวันออกของจีนสู่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ก็ล้วนเป็นภูเขาสูง เส้นทางทุรกันดารยากลำบากในการเดินทาง และทำการค้าอย่างมาก แต่มณฑลยุนนาน มีชายแดนติดกับ 3 ประเทศ ได้แก่  พม่า ลาว และ เวียดนาม ดังนั้นยุทธศาสตร์ การออกสู่ทะเล จึงถูกกำหนดขึ้น ทั้ง 3 ด้าน คือ
ออกมหาสมุทรอินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงใต้โดยผ่านทางพม่า 
ออกมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือทางตะวันออกเฉียงใต้โดยผ่านทางเวียดนาม
และสุดท้าย ออกมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ โดยลงมาตรงๆ ผ่านประเทศไทย เลย 

โครงการเส้นทาง "คุนมั่ง-กงลู่" หรือ เส้นทาง R3A และ R3B จึงถูกผลักดันให้เกิดขึ้น โดยจีนเลือกประตูออกที่ จิ่งหง หรือ เชียงรุ่ง ชื่อเมืองแปลว่า เมืองแห่งรุ่งอรุณ หรือที่ชาวไทยรู้จักในชื่อ ดินแดนสิบสองปันนา นั่นเอง ทำไมถึงเลือกเมืองนี้ เพราะว่า

1. เป็นเมืองที่มีชนเผ่ามากมายอาศัยอยู่ และแต่ละเผ่า มีวัฒนธรรมท้องถิ่น ใกล้เคียงกับลาว ไทย และพม่า อย่างมาก เช่น ชนเผ่าไทลื้อ ที่มีประชากรมากที่สุดในเชียงรุ่ง มีประเพณีความคล้ายคลึงกับชาวไทยตอนเหนืออย่างมาก ภาษาพูดแทบจะคุยกันรู้เรื่องได้เลย แต่อักษรไทลื้อ กลับมีส่วนคล้ายกับอักษรพม่า มากกว่าเนื่องจากเคยถูกปกครองภายใต้อาณาจักรตองอู มาเป็นเวลานาน 

2. เชียงรุ่งเป็นเมืองที่ มีชายแดนติดต่อ ทั้ง พม่า และลาว
ดังนั้น ถนน R3 จึงออกจาก เชียงรุ่ง 2 ด้าน แล้วมาเข้าไทยที่ จังหวัดเชียงราย
R3A ออกจากเชียงรุ่ง ที่ บ่อหาน แล้วผ่านลาว มาออกจากลาวที่ แขวงห้วยทราย ข้ามแม่น้ำโขงเข้าไทยที่ อำเภอเชียงของ
R3B ออกจากเชียงรุ่งเข้าพม่า แล้วมาเข้าไทย ที่ อำเภอเชียงแสน 





ปัจจุบัน ถนนทั้ง R3A, R3B เสร็จเรียบร้อยและเปิดใช้งานได้แล้ว สะพานข้ามชายแดนไทย-พม่าที่เชียงแสน ก็เสร็จแล้ว แต่เนื่องจาก พม่า-จีน ยังมีปัญหาชายแดน ทำให้ จีนปิดด่านด้านพม่า ทำให้ เส้นทาง R3B ไม่สามารถผ่านจากไทยเข้าไปจีนได้
ส่วนสะพานไทย-ลาว ที่เชียงของ ยังไม่เสร็จ (คาดว่าจะเสร็จ ในปี 2013) ทำให้ เส้นทางจากไทยเข้าสู่จีน ผ่านเส้นทาง R3A ยังไม่ได้รับความสะดวกมากนัก ยังต้องมีการ ข้ามเรือ เพื่อข้ามแม่น้ำโขง ที่ เชียงของ-ห้วยทราย 

การลำเลียงสินค้าเข้าจีน ปัจจุบันจึงมีสองทางคือ ทางบกผ่านถนน R3A และขนทางเรือ ล่องแม่น้ำโขงขึ้นไป (พ.ย.2555)

ดังนั้น การขนส่งทางบกเมืองมาถึงเชียงของ จะข้ามแม่น้ำ จึงต้อง เอารถบรรทุกขึ้นแพขนานยนต์ ข้ามแม่น้ำโขง เพื่อข้ามไปขึ้นฝั่งห้วยทราย
ปัจจุบัน ธุรกิจแพขนานยนต์จากเชียงของ ข้ามไปห้วยทรายเป็นของคนไทยดำเนินการ แต่ขาข้ามจากห้วยทรายกลับมาฝั่งเชียงของ ต้องเป็นของทางลาวดำเนินการ แต่มีนักธุรกิจไทยเข้าไปบุกเบิกจนได้สัมปทาน แพขนานยนต์ฝั่งลาวด้วย เป็นที่เรียบร้อย ชื่อบริษัท ฟ้าไชโย



สินค้าที่ผ่านในเส้นทางนี้ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกๆปี
เฉพาะการขนส่งสินค้าทางเรือ ที่ ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ให้ข้อมูลไว้ พบว่า
ในปี 2554 สินค้านำเข้า มูลค่า 1,100 ล้านบาท และ สินค้าส่งออกจากไทย มีมูลค่า 8,990 ล้านบาท

ในปี 2555 (ถึง 30 กันยายน) สินค้านำเข้า มูลค่า 512 ล้านบาท และสินค้าส่งออกจากไทย มีมูลค่า 11,137 ล้านบาท

จะเห็นว่า มีมูลค่าส่งออกสูงขึ้นหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
สินค้าหลัก ที่ส่งออกไป ได้แก่ ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง (เนื้อไก่ไทย), เนื้อกระบือแช่แข็ง (เนื้อจากอินเดีย) , รถยนต์ใหม่, รถยนต์ปรับสภาพ, น้ำมันปาล์ม, น้ำตาลทราย, กระทิงแดง, วัสดุก่อสร้าง (ลาวต้องการวัสดุก่อสร้างค่อนข้างมาก) สินค้าส่วนใหญ่ผ่านเข้าจีน 

สินค้าที่ผ่านเข้ามาในไทย หลักๆ ได้แก่ ทับทิมสด เมล็กทานตะวัน ใบหอมซอยแห้ง(ใช้ทำเครื่องปรุง ม่าม่า) ดอกไม้เพลิง แอปเปิ้ลสด เมล็ดฟักทอง ไม้สักจีนแปรรูป กระเทียม เป็นต้น

ผักต่างๆ ที่ขนจากจีนผ่านทางเส้นทาง R3A นี้ จะใช้เวลาถึงตลาดไท รังสิต ภายใน 36 ชม.

...
การขนส่งทางเรือ ในลำน้ำโขง ยังมีความลำบาก อยู่มาก เพราะ จากไทยจะต้อง ล่องเรือทวนน้ำขึ้นไป
ในหน้าน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำโขงจะไหลแรงมาก ในขณะที่หน้าแล้ง แม่น้ำโขง กลับมีระดับน้ำที่ต่ำมากและเกาะแก่งเยอะมากทำให้ ไม่สามารถใช้ในการลำเลียงสินค้าได้ หลังจาก จีน ก่อสร้างเขื่อนก็มีความพยายามที่จะควบคุมน้ำในแม่น้ำโขงให้มีระดับสูงพอที่จะขนส่งสินค้าทางเรือได้ ตลอดทั้งปี แต่ก้ยังไม่ราบรื่นนักเพราะการประสานงานของลาวกับจีน ยังไม่ดีพอที่จะควบคุมระดับน้ำให้มีเพียงพอตลอดเส้นทางลำเลียงสินค้า 
แต่ถึงมีอุปสรรคอย่างไร ทางจีนก็ต้องพยายามทำให้ได้ เพราะ จีนเองจะเป็นผู้เสียผลประโยชน์มากที่สุด หากไม่สามารถใช้การลำเลียงสินค้าทางเรือได้ ก็ต้นทุน ทางเรีอ มันถูกกว่า ทางบกถึง 3-5  เท่า กันเลย หากไม่ขนทางเรือ แล้วไปขนทางบกมาขึ้น ต้นทุนการขนส่ง จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ต้นทุนสินค้าที่จีนทั้งนำเข้า และส่งออกก็จะสูงมากขึ้น


อีกทั้งการขนส่งทางบก ที่ผ่านเส้นทาง R3A ยังต้องมีการเอารถบรรทุกขึ้นเรือข้ามฟากอยู่ เนื่องจาก สะพานเชื่อมไทย-ลาว ที่เชียงของ ยังไม่เสร็จ (คาดว่าจะเสร็จภายในปี 2556 แต่ไม่รู้จะเปิดใช้เมื่อไหร่) ทำให้การขนส่งยังมีอุปสรรคอยู่พอสมควร และเส้นทาง R3B จากจีนผ่านพม่าเข้าไทย ก็ยังไม่เปิดใช้ เนื่องจากปัญหาชายแดน จีน-พม่า 
หากเส้นทาง R3B เปิดใช้ได้ การลำเลียงสินค้าอาจจะ ไปอยู่ ที่ R3B มากกว่า เพราะ เส้นทาง R3B ที่ผ่านเข้าพม่านั้น สั้นกว่า R3A ถึง 100 กม. แล้วเส้นทางก็เป็นทางราบมากกว่า ไม่เหมือนเส้นทาง R3A ที่เป้นเส้นทางลัดเลาะไปบนภูเขา ในลาว ทำให้เดินทางได้ช้ากว่า

เมื่อการเดินทาง ออกทะเลของจีนเป็นอย่างนี้แล้ว ประเทศที่ได้ผลประโยชน์ อย่างชัดเจนคือ จีนแน่นอน แต่ประเทศไทยที่เป็นทางผ่านออกทะเล คงต้องมีมาตรการในการดูแลให้ดี ไม่อย่างนั้นแล้ว 
เราอาจจะประสพปัญหา .... อืมม ที่จริงก็เริ่มเกิดปัญหาแล้วล่ะ คือ คนจีนผ่านเส้นทางไหน จะสูบทรัพยากร ไปตลอดเส้นทางที่ผ่าน นั่นเอง ... 
ถ้าเราไม่มีมาตรการ ควบคุม ที่รัดกุมพอ (ซึ่งปัจจุบันหลวมมาก) เราคงโดน เขาสูบของดี ไปจนหมดประเทศ ... 


ค่อยๆย่อยข้อมูล ไปนะครับ ยังมีรายละเอียดอีกมาก แล้วว่างๆ จะเล่าให้ฟังอีก


Wave Rider Pui

.

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณข้อมูลดีๆนะคะจะคอยติดตามข่าวสารเรื่อยๆคะเป็นประโยชน์อย่างมาก

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากๆๆสำหรับข้อมูลดีๆและมีประโยชน์คะ

    ตอบลบ