Wave Riders Technical Course Online

Wave Riders Technical Course Online
เรียน Technical Course online สามาร click ที่ ภาพเลย

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Intrinsic Value VS Market Price



            นักลงทุนแบบเก็งกำไร ก็ต้องเรียนรู้ตนเอง และเรียนรู้วิธีการที่เหมาะกับตนเอง ในการเลือกวิธีการลงทุนในแบบฉบับของตนเอง เพื่อที่จะสร้างผลกำไรสูงสุดได้ ไม่ว่าจะด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หรือการวิเคราะห์ทางเทคนิค ก็เป็นการนำความรู้มาประเมินความน่าจะเป็นของราคาหุ้นที่เกิดขึ้นในอนาคต การกำหนดแผนการลงทุน จึงจำเป็นที่นักลงทุนจะต้องทำ เพื่อกำหนดราคาที่จะซื้อ จำนวนหุ้นที่จะซื้อ ราคาที่ยังถือต่อหรือขายทิ้ง และเป้าราคาที่จะขายทำกำไร ก็ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน และปรับปรุงให้เข้ากับสถานะการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา

            การใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน มาเก็งกำไรราคาหุ้นในอนาคต ก็สามารถทำได้ แต่อาจจะต้องมองเป็นการซื้อและถือมากกว่า จะซื้อขายบ่อยๆ เป็นรอบเล็กๆ คงไม่ได้ เพราะข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการประเมินสถานะการณ์นั้น กิจการจะมีการแสดงงบการเงินแสดงผลประกอบการทุกๆ 3 เดือน ดังนั้นนักลงทุนในแนวทางนี้ จึงต้องสามารถจำลองสถานะการณ์ของกิจการในอนาคต ประมาณการรายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไร/ขาดทุนของกิจการในอนาคต และประเมินความน่าจะเป็นของ มูลค่ากิจการ หรือมูลค่าที่เหมาะสม (Intrinsic Value) ของราคาหุ้นนั้นๆ ออกมา ซึ่งถ้าเป็นกิจการที่ไม่ซับซ้อน ก็สามารถทำได้ไม่ยากนัก แต่ก็ต้องระวังด้วยว่า กว่างบการเงินของกิจการจะออกมา ราคาหุ้นก็อาจจะสะท้อนความคาดหวังในกิจการไปเรียบร้อยแล้วก็ได้ หรือราคาหุ้นอาจจะวิ่งเกินราคาที่เหมาะสมไปแล้วก็ได้

            ส่วนการใช้การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค เป็นการใช้ราคาซื้อขาย และปริมาณการซื้อขายที่ผ่านมา นำไปคำนวณด้วยเครื่องมือคำนวณทางสถิติต่างๆ แสดงผลออกมาเป็นกราฟ เป็นภาพแสดงผลในลักษณะต่างๆ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นของราคาหุ้น วิเคราะห์แนวโน้มของราคาหุ้นว่าแนวโน้มของราคากำลังอยู่ในขาขึ้นหรือขาลง ซึ่งสามารถใช้กราฟ Time Frame ที่แตกต่าง มาวิเคราะห์แนวโน้มราคาในระยะสั้น ระยะกลาง หรือ ระยะยาว เช่น Yearly, Monthly Chart ใช้วิเคราะห์แนวโน้มราคาในระยะยาว Weekly, Daily Chart ใช้วิเคราะห์แนวโน้มราคาในระยะกลาง หรือ Hours, Minutes Chart ใช้วิเคราะห์แนวโน้มราคาในระยะสั้น แต่ว่า Technical Analysis ยังมีวิธีการที่หลากหลาย เป็นการใช้ข้อมูลทางสถิติของราคา และปริมาณการซื้อขายมาคำนวณ แล้วแสดงผลผ่านเครื่องมือทางเทคนิคต่างๆ ออกมา สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดผ่านทางกราฟเทคนิค

            บนหลักการเก็งกำไร ซื้อถูก-ขายแพง หรือใครจะบอกว่าซื้อแพงแล้วขายแพงกว่าก็ตาม การที่จะเกิดลักษณะนั้นได้ แสดงว่า ราคาหุ้นจะต้องมีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือที่เรียกกันว่า “ขาขึ้น” ดังนั้นการวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค จึงใช้กราฟ และเครื่องมือทางเทคนิคต่างๆ เพื่อแยกแยกสภาวะแนวโน้มของราคาหุ้นในอนาคต ว่า มีแนวโน้มเป็น “ขาขึ้น” หรือ “ขาลง” หรือ “ออกข้าง”

            นักลงทุน ที่จะเก็งกำไร โดยใช้การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค จึงต้องหาเครื่องมือทางเทคนิคที่ตนเองใช้ได้อย่างชำนาญ เลือก Time Frame ที่ตนเองจะใช้ในการวิเคราะห์ สัญญาณซื้อ-ขาย ให้เหมาะสมกับสไตล์ของตนเอง เลือกหุ้นที่ เหมาะกับแนวทางของตนเอง และมีวินัยวางแผนในการลงทุนอย่างรัดกุม

            จากภาพ แสดงภาพกราฟเปรียบเทียบ Market Price และ Intrinsic Value ของราคาหุ้น ของกิจการที่มีการเติบโตในอนาคต ภาพแบบนี้เรามักจะพบเห็นอยู่เสมอ เพราะ Intrinsic Value จะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นไปตามผลประกอบการของบริษัท ที่มีการออกรายงานผลประกอบการมาทุกไตรมาส แต่ Market Price กลับเคลื่อนไหวตามความคาดหวังของนักลงทุนในตลาด


ภาพเปรียบเทียบ Market Price และ Intrinsic Value




            จากภาพจะเห็นว่าในส่วนที่ 1 (สีชมพู) นั้น Intrinsic Value ในอดีตได้เพิ่มขึ้นตามผลประกอบการจนมาคงที่อยู่ระยะเวลาหนึ่ง เนื่องจากผลประกอบการยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง พอมีการแถลงข่าวแผนการในอนาคตที่จะทำให้กิจการเติบโตขึ้น Market Price จึงมีการถีบตัวขึ้น จากนักลงทุนที่มีความต้องการซื้อหุ้นของกิจการนั้น แน่นอนกิจการดีใครก็อยากเป็นเจ้าของ ก็แย่งกันซื้อไม่ลืมหูลืมตา จนราคามัน Overpriced สูงเกินมูลค่าแท้จริงในปัจจุบันไปอย่างมากมาย ผู้บริหารแถลงแผนว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วกิจการจะเติบโตไปเป็นเท่านั้นเท่านี้ แล้วจะทำให้มูลค่าหุ้นเติบโตไปเป็นเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็อาจจะมีนักวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐานออกบทวิเคราะห์ ยืนยันว่าเป็นไปได้ที่จะไปถึงราคาเท่านั้นจริงในอนาคต

            แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ มักลืมคำว่า “อนาคต” เห็นราคามันต่างจากเป้าอนาคตอีกเยอะ ซื้อตอนนี้กำไรเห็นๆ ก็ตะลุมบอนกันซื้อสิครับ ... ราคาก็วิ่งกระจายขึ้นไปเลย กิจการที่วางแผนจะขยับขยายเพิ่งเริ่มต้นดำเนินงาน แค่จะนับ 1, 2 เอง ยังไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่เลย แต่นักลงทุนกลัวไม่มีของ กลัวตกรถแย่งกันซื้อจนดันราคาขึ้นไป จนราคาวิ่งนำหน้าผลประกอบการไปใกล้เป้าหมายที่คาดว่าไว้ซะก่อน

            ระหว่างทางก็จะมีนักเก็งกำไรที่ไม่ได้สนใจพื้นฐาน หรือนักลงทุนบางส่วนขายทำกำไรออกมา ราคาหุ้นก็จะเริ่มปรับตัวลง อย่างที่เห็นในภาพกราฟส่วนที่ 2 (สีฟ้า) ขณะที่กิจการก็รายงานผลประกอบการออกมาเป็นระยะ ก็ส่งผลให้ Intrinsic Value ปรับเพิ่มขึ้น จน Market Price และ Intrinsic Value กลับมาเข้าใกล้กันอีกครั้ง แต่การลงทุนในกิจการย่อมต้องคาดหวังอนาคต ในเมื่อกิจการกำลังเติบโต ราคาในปัจจุบันกลับมาราคาถูก เมื่อเทียบกับมูลค่าที่คาดไว้ในอนาคต ก็ย่อมต้องมีนักลงทุนที่สนใจกลับมาซื้อหุ้นอีกครั้ง ทำให้ราคาวิ่งกลับขึ้นไป

             แต่ในการลงทุนขยายกิจการใดๆ ก็ตามปกติแล้ว จะต้องมีการกู้เงิน ก่อหนี้ หรือเพิ่มทุน อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการบางไตรมาส รายงานออกมาดูน่าเกลียดยิ่งนัก ในตลาดเองก็มีนักลงทุนประเภทที่อ่อนไหวต่อข่าวร้าย พวกนี้ขี้กลัวตกใจง่าย พอเจอข่าวร้ายกลัวกำไรหาย ก็จะรีบขายหุ้น จนบางทีแย่งกันขายหุ้นจนราคาหุ้นมัน UnderPriced ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง อย่างที่เห็นในส่วนที่ 3 (สีเหลือง) แต่ก็จะมีนักลงทุนที่เข้าใจกิจการอย่างแท้จริง ที่เห็นว่า Underpriced อย่างนี้ราคามันถูกเหลือเกิน หรือนักลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคมองเห็นแนวรับสำคัญที่ราคาไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้อีกแล้ว เข้าไปเก็บของ ในช่วงตรงนี้เองผลของการขยายกิจการ ก็ค่อยๆ แสดงผลออกมาให้เห็นในทุกๆ ไตรมาส ก็ทำให้ทั้ง Market Price และ Intrinsic Value ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปด้วยกัน

             แต่อย่าลืมว่านักลงทุนในตลาด มีพฤติกรรมคาดหวังอนาคต และต้องการกำไร อยู่มากมาย ราคาหุ้นก็กลับเข้าสู่สภาพ แย่งกันซื้อไม่ลืมหูลืมตาอีก จน Market Price วิ่งนำหน้า Intrinsic Value ไปจนกลายเป็น Overpriced อีก แล้ววงจรเดิมๆ ก็ย้อนกลับมาอีกเช่นเคย นักลงทุนที่ไม่สามารถเข้าใจ พฤติกรรมของราคาก็จะเกิดความกลัว จนขาดสติ และนำไปสู่การลงทุนที่ผิดพลาดในที่สุด

             จึงกล่าวได้ว่า การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานเป็นการคาดการณ์ Intrinsic Value ของกิจการที่จะเป็นไป ในอนาคต ตามแผนการที่กิจการวางแผนธุรกิจไว้ ก็คือเส้นสีแดง ในภาพ ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่า ราคาตลาดในระหว่างการเดินทางนั้นจะเป็นไปอย่างไร

             ส่วนการวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคนั้น เป็นการใช้ราคา และปริมาณซื้อขายที่เกิดในอดีต มาคาดการณ์พฤติกรรมราคาในอนาคต จึงใช้บอกความน่าจะเป็นของแนวโน้มของราคาในขณะใดขณะหนึ่ง กราฟและเครื่องมือทางเทคนิคสามารถบอกพฤติกรรมของตลาดได้ว่า Overbought แล้ว ราคาขึ้นได้อีกไม่มากแล้ว หรือ Oversold แล้ว ราคาจะลงได้อีกไม่มากแล้ว หรือบอกระดับราคาที่เป็นแนวรับสำคัญที่นักลงทุนส่วนใหญ่มีต้นทุนอยู่ หรือพฤติกรรมราคาอื่นอีกหลากหลายที่สามารถตีความได้จาก กราฟ และเครื่องมือทางเทคนิค ซึ่งจะมาช่วยทำให้นักลงทุนที่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค สามารถหาจังหวะเข้าซื้อ หรือขาย หรือระมัดระวัง วางแผนการลงทุนได้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น แต่การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคก็ไม่สามารถบอก มูลค่าของราคาหุ้นที่สะท้อนผลประกอบการของกิจการได้

            นักลงทุนจะใช้การวิเคราะห์อย่างใดอย่าหนึ่งในการลงทุนก็ได้ ไม่ว่ากัน ....แต่จะดีกว่าไหม ถ้าใช้มันทั้งสองอย่าง ในเมื่อมันทำหน้าที่คนละอย่าง .... อยู่แล้ว


Good Luck to All....

Wave Riders Pui

<--- Previous ; History of Technical Analysis
----> Next  ;  จะขึ้นเขา ... อย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัย... จะได้ไม่ติดดอย









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น