Wave Riders Technical Course Online

Wave Riders Technical Course Online
เรียน Technical Course online สามาร click ที่ ภาพเลย

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เล่นหุ้นด้วย Technical ดู P/E Ratio ไหม


วันก่อน มีน้องคนหนึ่ง มาถาม ว่า

ใช้เทคนิคอล ซื้อหุ้นยังต้องดู P/E Ratio ไหมครับ ?

แบบนี้ มันต้องตอบ  .... ฮ่า ๆๆ ชอบ คำถามแปลกๆ 


ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจ ก่อนว่า P/E Ratio ที่เราเห็นคืออะไร

     P คือ Price คือราคา ณ ปัจจุบันที่เราเห็น ในการคำนวณ มักจะนำ ราคาปิด Close Price มาใช้

     E คือ Earnings per Share หรือกำไรต่อหุ้น นั่นเอง ซึ่งจะได้ตัวเลขนี้ ทุกครั้งที่มีการประกาศผลประกอบการของกิจการในทุกๆ Quarter

     ราคาหุ้น วิ่งด้วยความคาดหวังของนักลงทุนในตลาด ซึ่งตอบสนองต่อความคาดหวังต่อกิจการในอนาคตของนักลงทุน ถ้าซื้อหุ้นไปราคาขยับขึ้นเรื่อยๆ ก็แสดงว่า นักลงทุนยังต้องการ และมองความคาดหวังในไปในอนาคต

      P/E Ratio เกิดจากการนำ ราคาปัจจุบัน (P) หารด้วย กำไรต่อหุ้น (EPS) ซึ่ง EPS จะใช้ล่าสุดตามประกาศผลประกอบการแต่ละ Quarter ก็หมายความว่า P/E Ratio ที่เราเห็นมันเป็นสัดส่วนของราคาปัจจุบัน ต่อผลกำไรของกิจการในหลายเดือนที่ผ่านมา แล้วอย่างนี้ จะเอามาดูอะไรได้ เช่น วันนี้เป็นวันที่ 20 ธันวาคม P/E ที่เราเห็นแสดงสัดส่วนของราคาวันนี้ เทียบกับผลประกอบการถึงวันที่ 30 กันยายน (ประกาศงบ Q3)

      ดังนั้นค่า P/E Ratio ที่เราเห็นกัน จึงไม่ได้ตอบอนาคตของกิจการเลย ถ้าราคาเพิ่มขึ้นทุกวัน P/E Ratio ก็เพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะตัวหาร EPS ยังเป็นตัวเดิมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประกาศผลประกอบการรอบถัดไป ถ้าประกาศผลประกอบการรอบถัดไป EPS เพิ่มขึ้น ตัวหารมากขึ้น P/E Ratio ก็จะลดลงทันที แต่ราคามีความคาดหวังขึ้นไปรอแล้ว ราคาจะขึ้นหรือลงหลังจากประกาศผลประกอบการ ไม่ได้อยู่ที่ P/E Ratio เป็นเท่าไหร่ หรือ EPS กำไรของกิจการเป็นเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ผลกำไร ออกมามากกว่า หรือน้อยกว่าที่นักลงทุนคาดหวัง 

        ให้ดูตัวอย่าง KTC ช่วงปี 2554-2555 จะเห็นว่าผลประกอบการของ ปี 2554 ขาดทุน EPS ติดลบ ทำให้ P/E Ratio คำนวณไม่ได้ หรือเป็นศูนย์ นั่นเอง แล้วกิจการก็เริ่มมีกำไรกลับมาในปี 2556 และ 2557



          ถ้าดูราคาหุ้นช่วงปี 2554-2555 จากกราฟจะเห็นว่า ราคาช่วง มกราคม-กุมภาพันธ์ 2555

          ราคาหุ้นยังวิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ภาพกราฟด้านล่างบริเวณด้านซ้าย) 
          P/E Ratio ก็ยังขึ้นต่อเนื่องเพราะใช้ EPS ในอดีตมาคำนวณในขณะที่ยังไม่มีการประกาศผลประกอบการออกมา เมื่อมีการประกาศผลประกอบการออกมา ในวันที่ 1 มีนาคม 2555 จะเห็นว่า P/E Ratio กลายเป็น ศูนย์ ไปเลยจาก EPS ติดลบขาดทุน แต่ราคายังขึ้นต่อ จาก 18 บาทไป 22 บาท ก็แสดงให้เห็นชัดว่าราคาที่ขึ้นไปนั้น ไปด้วยความคาดหวัง หรือข่าวดีที่ออกมาจะไม่ใช่การเติบโตของมูลค่ากิจการในระยะยาวแน่นอน





         ในที่สุดราคาก็ถอยลงจากการขายทำกำไร ราคาถอยลงมาจนถึงกลางเดือนมิถุนายน ราคาหยุดลง และราคาค่อยๆ ยกตัวขึ้น แม้ประกาศผล Q1/2555 และ Q2/2555 EPS ยังติดลบ P/E Ratio ยังเป็นศูนย์ แต่ราคาหุ้นก็ยังขึ้นไปด้วยความคาดหวัง จนไปถึง 32 บาทในเดือนพฤศจิกายน (ด้านขวาของกราฟ) ประกาศผล Q3/2555 EPS ก็ยังติดลบ P/E Ratio ยังเป็นศูนย์ แน่นอนว่านักลงทุนบางส่วนเริ่มไม่สมหวัง ขายทำกำไรออกมาราคาลงมาที่ 25 บาท


          ในช่วงเวลาเดือนธันวาคม 2555 ถึง กุมภาพันธ์ 2556 (กราฟด้านล่าง) ก็มีข้อมูลใหม่เข้ามาให้นักลงทุน หรือข่าวดีนั่นล่ะ ว่าภายในปี 2555 ผลประกอบการจะกลับมามีกำไร และจะมีอย่างนั้น มีอย่างนี้เกิดขึ้นในปี 2556 ราคาหุ้นก็ถูกไล่ซื้อด้วยความคาดหวังขึ้นจาก 25 บาทไปถึง 50 บาท ราคาวิ่งนำหน้าไปอีกแล้ว จนประกาศผล Q4/2555 ออกมา EPS +0.99 บาทต่อหุ้น P/E Ratio กลายเป็น 43.73 ทันที 

         นักลงทุนก็ตอบรับทันที ด้วยการเทขายออกมา แล้วปี 2556 ทั้งปีราคาก็เหวี่ยงขึ้นลงๆ ในกรอบราคาระหว่าง 31 บาท กับ 48 บาท ส่วน P/E Ratio ก็ปรับลดลง ทุกครั้งที่มีการประกาศผมประกอบการ เพราะกำไรต่อหุ้น EPS เพิ่มขึ้นในทุกๆ Quarter จนประกาศผล Q2/2556 ในเดือนสิงหาคม 2556 P/E Ratio กลายเป็น 9.88 และกลายเป็น 6 กว่าในเดือนธันวาคม 2556



          จากที่อธิบายมาทั้งหมด จะเห็นแล้วว่า ราคาหุ้นจะตอบสนองข่าวดีแล้วความคาดหวังในอนาคต แต่ P/E Ratio จะปรับตัวตามผลประกอบการจริงที่ผ่านมาแล้วในอดีต 

        การดูว่า P/E Ratio ตอนนี้สูงมากแล้วไม่น่าซื้อ เพราะราคามัน Overvalue อาจจะเป็นจริงในแง่ของการซื้อหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว แต่การใช้เทคนิคอลในการเก็งกำไรระยะสั้น P/E Ratio ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ในทางกลับกัน P/E Ratio แค่ 12-14 เท่าเอง ในช่วงต้นปี 2555 ของ KTC ที่ราคาก็ยังต่ำ และมีแนวโน้มจะวิ่งขึ้น ก็ไม่ได้บอกว่า ผลประกอบการจะออกมาเป็นอย่างไร

         การดู P/E Ratio เพียงขณะใดขณะหนึ่งจึงได้ประโยชน์ในการประกอบการตัดสินใจน้อยมาก เพราะถ้าจะนำมาประกอบในการพิจารณาร่วมกับกราฟเทคนิคอลแล้ว ต้องดูการเปลี่ยนแปลงของ P/E Ratio ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง

          ในการลงทุนที่จะซื้อถือหุ้น Run Trend เราจะใช้กราฟในการมองหา กิจการที่มีพื้นฐานดี พร้อมจะเติบโตในอนาคต และมีราคาที่กำลังพักตัวออกข้าง วิ่งอยู่ในกรอบและพร้อมที่จะขยับวิ่ง Break Out ให้เราเข้าซื้อได้ตั้งแต่ต้น Trend 

           ดังนั้นถ้าเราพบว่า ราคาหุ้นออกข้างไปไปไหนนานๆ แล้วพบว่า P/E Ratio ลดลงในทุกครั้งที่มีการประกาศผลประกอบการ แสดงว่า กิจการมีกำไรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุก Quarter แต่ราคายังไม่ไปไหนคือยังไม่มีใครให้ความสนใจ 
          ฮึๆๆ นี่มันเหมือนยิ่งกว่าเจอเพชรในโคลน อีก จะใช้ P/E Ratio กับเทคนิคอล ก็ให้มันเป็น ใช้แบบนี้  ... จะได้ รวย 5 เด้ง ...




Wave Riders Pui

.
.
.
.










1 ความคิดเห็น:

  1. ผมพึ่งเริ่มศึกษาตลาดหุ้น เรื่อง P/E อาจารย์อธิบายได้ชัดที่สุดเลยครับ ขอบคุณมากๆ ครับ โชคดีจริงๆ ที่มี BLog ดีๆ แบบนี้ครับ ^__^

    ตอบลบ