Wave Riders Technical Course Online

Wave Riders Technical Course Online
เรียน Technical Course online สามาร click ที่ ภาพเลย

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

8 เหตุผลที่ คนควรขายหุ้น



          เคยเป็นอย่างนี้กันบ้างไหม?? จะลงทุนในหุ้น ศึกษาหาหุ้นกิจการดี วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน หรือดูกราฟมองหาสัญญาณเทคนิคกันแทบหลังหัก กำเงินเข้าซื้อหุ้นด้วยความมั่นใจเปี่ยมล้น แต่สุดท้ายตกม้าตายตอนจบ เพราะไม่รู้จะขายตรงไหน ราคาวิ่งขึ้นก็ลุ้นว่าจะขึ้นไปได้อีกไหม พอราคาถอยลงก็เชื่อว่าราคาหุ้นจะกลับขึ้นไปได้อีก แล้วก็ไม่ได้ขายหุ้นที่ซื้อมา แล้วก็เก็บหุ้นไว้ต่อไปไม่ได้ขาย ปัญหาแบบนี้ ถ้ายังไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไร มันก็จะเกิดแบบเดิมกลับมาอีก ลองมาดูกันว่า ถ้าจะขายหุ้น เราควรจะขายเพราะอะไร ขายเมื่อไหร่

1. Sell on Stop

จุด Stop Loss ของนักเทคนิคอล มีเครื่องมือมากมายหลายวิธี มาช่วยในการกำหนดแนวราคาที่ต้องขายหุ้นทิ้ง เช่น Safety Belt, เส้น EMA หรือแนวรับแนวต้านก็ได้ การวางแนวราคา Stop การยกขยับ Stop ตามไปเมื่อราคาวิ่งขึ้น เป็นวินัยที่จำเป็นในการเข้าซื้อหุ้น และการถือหุ้น ซึ่งช่วยป้องกันการขาดทุนจำนวนมากๆ เมื่อราคาหุ้นไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

เมื่อจะเข้าซื้อหุ้น จึงต้องกำหนด Stop Price เพื่อนำไปประเมินความเสี่ยง (Risk) และคำนวณหาจำนวนหุ้นที่จะซื้อ (Position Sizing) จะเป็นการจำกัดความเสี่ยงในการขาดทุน (Limit Loss) ไว้ไม่ให้ขาดทุนมากเกินกว่าที่จะรับได้ และป้องกันต้นทุนเอาไว้ แผนการซื้อขายหุ้น เป็นสิ่งที่ต้องทำไว้ให้ชัดเจน ทั้งจุดเข้าซื้อ จุดยอมขายทิ้ง และเป้าหมายที่จะทำกำไร

ดังนั้นเมื่อราคาถอยมาถึง Stop Price จึงต้องรักษาวินัยของตนเอง ขายหุ้นออกไป เพื่อควบคุมความเสี่ยง และจำกัดการขาดทุนเอาไว้ ส่วนรูปแบบ และสไตล์การลงทุนของแต่ละคนจะเป็นตัวกำหนดวิธีการวาง Stop Price ที่เหมาะสม เลือกวิธีการที่เหมาะสม และรักษาวินัยตามนั้นให้ได้ 


2. Sell when Wrong

เหตุผลที่เข้าซื้อหุ้นไม่ว่าจะด้วยการวิเคราะห์ทางพื้นฐาน หรือทางเทคนิค ก็ตาม หรือแม้ว่าจะซื้อตามข่าวก็เถอะ ถ้าเหตุการณ์ทีเกิดตามมามันไม่เป็นไปตามข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจซื้อ มันก็ถือว่า “ผิด” (Wrong) การตัดสินใจขายหุ้นที่เข้าซื้อผิด เป็นสิ่งที่ต้องทำให้เร็วที่สุด

ดูพื้นฐานหุ้นดี คาดว่ากิจการจะเติบโต แต่พอประกาศผลประกอบการ หรือดำเนินธุรกิจไปแล้ว ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ก็ต้องขายทิ้ง

ดูกราฟ มีสัญญาณเทคนิคดี ราคาหุ้นวิ่ง เทรดเดอร์คาดว่าจะวิ่งไปได้ไกล เข้าซื้อไปแล้ว แต่สิ่งที่ตามมากลายเป็นว่า ราคาไม่ไปแล้ว ถอยหลังลงก็ต้องยอมรับสภาพขายทิ้งไป หรือฟังข่าวว่ามาอย่างนั้นอย่างนี้ เชื่อแล้วซื้อตามเขาไป ถ้าข่าวไม่เป็นจริง เป็นแค่ข่าวหลอกข่าวลือ ก็ต้องขายหุ้นทิ้งเหมือนกัน

เมื่อผิด ก็ต้องยอมรับว่า “ผิด” เข้าซื้อหุ้น เพราะเข้าใจผิด คิดผิด มองผิด ควรขายทิ้งอย่างไว ไม่ควรดื้อดึง ติดหุ้น ติดดอย หลายคนรู้ตัวว่าซื้อผิด แต่ไม่ยอมรับตัวเอง ดื้อดึงหาข้ออ้างต่างๆ นานา หาเหตุผลมาหลอกตัวเอง ให้ถือหุ้นต่อไป ด้วยความหวังที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีข้อเท็จจริงมารองรับ ถ้ายังแก้นิสัยตรงนี้ไม่ได้จะมีอาการติดหุ้น ติดดอยต่อไปเพราะซื้อหุ้นผิดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น เห็นหุ้น Break Out New High คิดว่าหุ้นจะวิ่งไปไกล เข้าซื้อไปแล้ว แต่กลายเป็นวิ่งวันเดียวแล้วเลิก ราคาถอยกลับลงมาใต้แนวราคาที่ Break Out ไป กลายเป็น False Break อาการพยายามมองหา Indicator มาหาข้ออ้างต่างๆ ไม่ยอมขายหุ้น แล้วถือหุ้นต่อไป จนสุดท้ายทนไม่ได้ขายหุ้นขาดทุนออกมา เสียหายยิ่งกว่าเดิม

อาการผิดพลาดอีกอย่างพวกคาดหวัง หรือ Bias ในใจ หลอกลวงตัวเอง ดูกราฟเห็น Pattern แล้ว ใจเร็วรีบเข้าซื้อก่อนที่จะเกิด Confirm Pattern เห็นหุ้นกำลังจะ Break Out กลัวตกรถ รีบเข้าซื้อก่อน Break Out และอีกเยอะแยะที่รีบเข้าซื้อก่อนที่ Confirm Buy Signal จะเกิดขึ้น แต่ราคาไม่ได้วิ่งตามที่คาดหวัง ดันผิดคาด ราคาดันทำ “เข็มขัดสั้น” (คาดไม่ถึง) ...

อาการเข็มขัดสั้น นี่มันแสบนะ มือใหม่จะเป็นกันบ่อย ใจเร็วด่วนได้ จะด้วยความงก หรือกลัวตกรถ หรืออะไรก็ไม่รู้ เข้าซื้อก่อนเกิด Confirm Signal แล้วพอไม่เป็นไปตามนั้นจะออกอาการ อึ้งๆ งงๆ ในหัวจะออกอาการขัดแย้งเหมือนมี 2 ข้างทะเลาะกัน ข้างหนึ่งจะบอกว่า “แย่แล้ว ... Stop เลย ... ขายทิ้งเถอะ”
อีกฝ่ายจะบอกว่า “ไม่หรอก ... เดี๋ยวมันก็ไป ... ดูสิ Indicator ตัวนั้น ยังบอกอยู่เลยว่า มันยังไปได้อยู่” สุดท้ายก็ไม่ได้ทำอะไรปล่อยให้ราคาไหลลงไปเรื่อยๆ จนเกินจุดที่จะกล้าขายขาดทุน

ดังนั้นจะเข้าซื้อด้วยเหตุผล หรือเหตุการณ์อะไรก็ตาม ถ้าราคาไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ผิดพลาด ผิดทาง ก็ต้องขายทิ้ง ซึ่งดีทีสุด คือ ซื้อเมื่อราคาเกิด Confirm Buy Signal แล้วดีที่สุด ถึงจะซื้อแพงขึ้นอีกนิด แต่ Sure กว่า มั่นใจมากกว่า เสี่ยงน้อยกว่า มันก็น่าจะดีกว่า มิใช่หรือ



3. Sell on Trend Change

หากเป็นนักลงทุนเก็งกำไรราคาหุ้น ไม่ว่าจะซื้อถูกไปขายแพง หรือซื้อแพงเพื่อไปขายที่แพงกว่า มีสัญญาณกราฟเทคนิคมากมายหลายวิธี ที่สามารถใช้ยืนยัน Trend แนวโน้มของราคาได้ จะทำกำไรขาขึ้น Trend Up ก็ต้องชัดเจน หรือทำกำไรขาลง Trend Down ก็ต้องแน่ใจว่าลงแน่แล้ว ไม่ใช่แค่ถอยพักตัว แต่ละแบบแต่ละสไตล์ จะเป็นแนวเล่นรอบสั้น (Short Term Trade) หรือรอบระยะกลาง (Medium Term Trade) หรือแนวซื้อถือตามเทรน (Trend Following) ก็ต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการดูแนวโน้ม และใช้ในการยืนยันการคงอยู่ของแนวโน้ม

ถ้าราคาหุ้นแสดงการเปลี่ยนแปลงแนวโน้ม จาก Trend Up กลายเป็น Trend Down หรือเข้าสู่สภาพพักตัวแล้ว ก็ควรจะทำตามแผนที่วางไว้ตามสไตล์ของแต่ละคน นักลงทุนที่ซื้อขายเก็งกำไรระยะกลาง หรือระยะสั้น ก็ใช้เครื่องมือ Indicator มาประเมิน Trend ได้ว่ามีพลังไปต่อได้หรือไม่ หรือใช้ Trend Line ก็ได้ ถ้า Trend Change ก็ควรพิจารณาขายทำกำไร ส่วนจะขายมาก ขายน้อย หือขายหมดเลย ก็สุดแล้วแต่การจำกัดความเสี่ยงของแต่ละคนที่มีไม่เท่ากัน

ถ้าเป็นนักลงทุนระยะยาว ประเภท Buy and Hold , Follow the Trend อาจจะใช้เส้นค่าเฉลี่ยมากๆ อย่าง EMA35 หรือ EMA55 มาช่วยเป็นแนวในการช่วยตัดสินใจก็ได้ หรืออาจจะใช้วิธีดูการถดถอยของราคาหุ้นมาช่วยก็ได้ โดยประเมินจากราคาที่เคยวิ่งขึ้นไปทำยอดสูง High Price ล่าสุด มีเทียบกับราคาที่ถดถอยลงมาในปัจจุบัน ถ้าราคาถดถอยลงมามากกว่า 20% ของราคา High Price ให้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า Trend มันจบแล้ว เช่น ราคา High เคยไปถึง 100 บาท แล้วราคาถอยลงมาที่ 80 บาท แสดงว่าโอกาสที่ราคาจะมี Trend Up แล้วไปต่อมากกว่าเดิมได้ มันเหลือน้อย หรือหมดไปแล้ว

หรือเป็นหุ้นทีมี Market Capital สูงๆ เป็นหุ้นที่อยู่ใน SET50 หรือหุ้นของกิจการขนาดใหญ่ หุ้นพวกนี้มักจะมีน้ำหนักต่อตลาด ถ้าราคาถอยมากๆ ก็จะไปดึงดัชนีของตลาดลงมาด้วย ก็จะทำให้ภาพรวมของตลาดดูไม่ดีนัก ถ้าหุ้นในกลุ่มพวกนี้ ราคาถอยลงมาสัก 10% ของยอดสูงก่อนหน้า ก็ต้องระวังให้มากแล้วล่ะ เช่นหุ้นราคาไปได้สูงถึง 200 บาท แล้วราคาถอยลงมาถึง 180 บาท ก็เท่ากับว่าลงมา 10% แบบนี้ก็ต้องเริ่มพิจารณาการขายออกบ้างได้แล้ว เพราะมันมีโอกาสที่ จะเปลี่ยน Trend เป็นขาลงได้

4. Sell on Exit Rule

การมีวินัยในการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้สามารถรักษาเงินทุน ให้มีความสามารถในลงทุนต่อไปได้ คนที่ไม่มีวินัยในการลงทุน จะปล่อยให้ตนเองขาดทุน หรือติดหุ้น ติดดอยจนไม่เหลือเงินทุนให้ลงทุนต่อไปได้

ดังนั้นการตั้งกฎกติกาให้กับตนเอง ที่จะขายหุ้นที่มีอยู่ในแต่ละตัว ก็ต้องมีการกำหนดขึ้นมาให้ชัดเจน และจำเป็นต้องเคารพรักษากฎนั้นอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าตั้งกฎเอง แล้วไม่ทำตามกฎที่ตั้งเอาไว้ ก็ถือว่าไม่เคารพตนเอง ก็ยากที่จะก้าวหน้าในสิ่งที่ทำอยู่ได้ ถ้ากฎกติกาที่ตั้งไว้ มันเร็วเกินไป ช้าเกินไป ไม่เหมาะสมกับการลงทุนของตนเอง ก็ปรับปรุงได้ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามใจชอบ

กติกาที่ดี ต้องไม่ซับซ้อน และง่ายในการใช้พิจารณา ถ้าใช้ Indicator ในกราฟ ก็ไม่ควรมี Indicator หลายตัวมาประกอบกัน เพราะโอกาสที่ Indicator หลายตัวยืนยันสัญญาณพร้อมกันมันมีน้อย จะให้สับสนโดยใช่เหตุ เพราะ Indicator แต่ละตัวมีเร็วช้าต่างกันไป ถ้าไม่เข้าใจการใช้งาน แล้วเอาไปดูประกอบกันเพื่อหวังจะให้มันส่งสัญญาณยืนยันกันเอง ขอบอกเลยว่า พลาดแล้วล่ะ เพราะมันจะเจอสัญญาณตีกันไปมาแน่นอน

ถ้าเป็นนักลงทุนที่ใช้ปัจจัยพื้นฐาน ก็ไม่ควรใช้เงื่อนไขในการตัดสินใจที่คำนวณยาก หรือใช้เวลาในการหาข้อมูลนานเกินไป ดังนั้นสัญญาณขาย หรือกติกาที่จะขายหุ้นออกไป ต้องถือว่าเป็น พันธะสัญญาที่ตนเอง ตั้งกติกาไว้ด้วยสติครบถ้วน เมื่อถึงเวลาคับขัน เรามักจะไร้สติ หรือเสียสติไปเลย ลืมกติกาของตนเองไปเลย หรือไม่ก็ต่อรองราคา

หุ้นแต่ละตัวที่มีอาจจะกำหนดเงื่อนต่างกันก็ได้ เพราะพอร์ทการลงทุนอาจจะมีหุ้นหลายๆ แบบได้ หุ้นลงทุนถือยาว หุ้นเล่นรอบตามเทรน หรือหุ้นเล่นรอบเร็ว กำหนดได้แล้วก็เขียน และพกติดตัวไว้ ตลาดมี Panic ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะได้ไม่แหกกฎ ไม่หลอกตัวเอง

ความยากมันไม่ได้อยู่ที่กำหนดกติกา แต่เป็นการบังคับตนเองให้ทำตามกติกาต่างหาก

5. Sell at Target Price

หลายคนอาจจะเคยได้ยินสำนวนโบราณ เช่น “กำขี้ ดีกว่ากำตด” หรือ “หวังน้ำบ่อหน้า” ที่มีความหมายในทำนอง ว่า อนาคตข้างหน้าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ให้ทำตอนนี้ไปก่อนเลยดีกว่ารอต่อไปแล้วพลาดโอกาสที่ดีไป

การลงทุนก็เช่นกัน ถ้ามีการวางเป้าขายทำกำไรเอาไว้ จะด้วยกราฟเทคนิค หรือด้วยการคำนวณทางปัจจัยพื้นฐานก็ตาม เมื่อราคาขยับไปถึงเป้าที่ตั้งเอาไว้แล้ว เราไม่รู้อนาคตได้หรอกว่า ราคาจะขึ้นไปอีกหรือจะถอยลงมา การขายทำกำไรตามเป้าหมายที่วางไว้แต่แรกก็ควรจะทำ เพราะว่าในตอนที่เราตั้งเป้าขายทำกำไรเอาไว้ก่อนที่ราคาจะไปถึงนั้น แสดงว่าเราพึงพอใจในกำไรที่จะได้รับจากการขายในราคานี้แต่แรกแล้ว เราก็ควรขายทำกำไรออกไป

โดยเฉพาะ Short Term Trader หรือ Swing Trader ที่เล่นรอบเก็งกำไรราคาตามจังหวะการเหวี่ยงตัวของราคา ก็จะใช้กราฟเทคนิควางราคาเป้าหมายไว้อยู่แล้ว ซึ่งก็จะมีหลายวิธีการ ไม่ว่าจะใช้ Price Pattern, Trading Range หรือ Fibonacci Projection เป็นต้น ถ้าวางเป้าราคาไว้แล้ว ราคาวิ่งเข้าใกล้เป้า หรือ ถึงเป้าราคา แนะนำว่าควรขายทำกำไร ส่วนวิธีการขาย จะขายที่เป้าราคาเลย หรือจะขายดักก่อนถึง หรือขายหลังจากถึงเป้าแล้วเริ่มทำท่าจะถอยลงก็ได้ จะทำยังไงก็ได้ตามสะดวกเลย เมื่อขายไปแล้วก็พึงพอใจในกำไรที่ได้รับตามเป้าราคาที่ได้วางแผนเอาไว้ อย่าทำตัวถือเป้าไว้ วางไม่ลง ใจยังยึดติดที่เป้าราคา ขายไปแล้วราคาวิ่งไปต่อ ก็บ่นไปสามวันแปดวัน เอาเวลาที่บ่น ไปทำแผนใหม่ของรอบต่อไปไม่ดีกว่าหรือ

6. Sell on Weak Fundamental

ปัจจัยพื้นฐานของกิจการ เป็นสิ่งสำคัญของราคาหุ้น ถึงแม้ราคาจะวิ่งขึ้นลงแทบทุกวันจากการซื้อมาขายไปของนักลงทุนในตลาดก็ตาม แต่ระยะยาวแล้ว ราคาหุ้นก็ยังเคลื่อนที่ไปในแนวโน้มใหญ่ ที่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของกิจการ และมูลค่าที่แท้จริงของกิจการอยู่ดี กิจการที่มีผลประกอบการดี เติบโตทุกปี ราคาหุ้นก็เติบโตตามไปทุกปีเช่นกัน ส่วนกิจการที่ผลประกอบการเลวร้าย ราคาหุ้นก็ยากที่จะเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน

การประเมินสภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของกิจการที่อยู่ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมนั้นๆ อย่างแน่นอน ในการลงทุนในระยะยาวจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษาและติดตามสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และติดตามผลประกอบการของกิจการที่ลงทุนไว้อยู่เสมอ ซึ่งหากมีแนวโน้มในอนาคตที่จะเกิดผลกระทบ ทำให้มูลค่าของหุ้นที่เรามีลดลงค่อนข้างมาก การขายหุ้นเอาเงินสดมาถือไว้บางส่วน ก็เป็นวิธีที่น่าจะต้องทำ

ในสภาวะเศรษฐกิจปกติ แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะเติบโตไม่พร้อมกัน บางกลุ่มเติบโตมาก บางกลุ่มทรงตัว บางกลุ่มถดถอย หมุนเวียนกันไปตามวงจรของธุรกิจ ดังนั้นถ้าหุ้นที่เรามีอยู่ กิจการเข้าสู่ช่วงของการถดถอย ก็จะเป็นการดีกว่า ถ้าจะโยกเงินลงทุนออกมาย้ายไปสู่กิจการที่เติบโตได้ดีกว่าในอนาคต ก็น่าจะดีกว่าปล่อยเงินแช่เย็นไว้ในกิจการที่อยู่ในสภาวะถดถอยโดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย

7. Sell on Piercing Support

ในบทก่อนๆ ได้มีพูดถึงเรื่อง Support Zone หรือแนวรับ กันไปแล้ว ก็จะรู้ได้ว่า มีวิธีการกำหนดแนวรับไว้หลายวิธี เมื่อราคาเกิดการวิ่งทะลุผ่านแนวรับไปได้ จะต้องพิจารณาให้ดีว่า ราคาทะลุจริง หรือทะลุหลอกกันแน่ มีวิธีการหนึ่งที่จะใช้ช่วยในการพิจารณาได้ คือ การดูจากราคาปิด Close Price ใช้ในการยืนยัน ถ้าราคาปิดของวันลงมาต่ำกว่าแนวรับได้ แสดงว่ามีคนยอมขายที่ราคาต่ำกว่าแนวรับ

แนวราคาที่เป็นแนวรับจริงจะมีการกลับตัวที่แนวราคาที่เป็นแนวรับหลายครั้งในอดีต หมายความว่า ที่แนวราคานี้เกิดการซื้อขายของนักลงทุนจำนวนมากจนเกิดการกลับตัวของราคา หากเกิดราคาลงมาทะลุแนวรับนี้ได้ และทำราคาปิดต่ำกว่าแนวรับนี้ได้ ก็มีโอกาสที่นักลงทุนจำนวนหนึ่งจะขายหุ้นออกมาในวันรุ่งขึ้น เพราะไม่อยากขาดทุน ซึ่งจะทำให้ราคาลงต่อไปอีก ดังนั้นเวลาที่เราเห็นราคาหุ้นปิดต่ำกกว่าแนวรับสำคัญ ที่เคยมีการกลับตัวของราคาในอดีตมาแล้วหลายๆ ครั้ง และแนวรับเหล่านั้นมีปริมาณการซื้อขายมากๆ จึงพบอยู่เสมอว่า ราคาจะไหลลงต่ออย่างเร็วในวันถัดไป

การที่ราคาปิดของวันหลุดแนวรับที่สำคัญ จึงเป็นสัญญาณขายอย่างหนึ่ง ที่นักเทคนิคอลใช้ในการขายทำกำไร เมื่อเห็นสัญญาณอย่างอื่นประกอบ เช่น การอ่อนกำลังของแนวโน้ม หรือเกิด Strong Bearish Divergence Signal ก่อนหน้านี้ จากนั้นราคาถอยลงมาจนหลุดทะลุแนวรับ และท้ายตลาดทำราคาปิดใต้แนวรับไปหลายช่องเลย แน่ใจได้ว่าปิดต่ำกว่าแน่ๆ แนะนำให้ควรขายบางส่วนไปก่อนตลาดปิด เพื่อทำกำไรเอาไว้ก่อน แล้ววันถัดไปติดตามดูการเคลื่อนไหวของราคาอีกทีว่าจะขายเพิ่มหรือไม่ ส่วนจะขายมากน้อยเท่าไร ก็แล้วแต่แผนของแต่ละคน ขนาดของพอร์ท การรับความเสี่ยง ของนักลงทุนแต่ละคนเอง

8. Sell on Confirmation of Bearish Pattern

ในการกลับตัวของราคา ถ้าเปลี่ยนเป็นขาลง หรือ ราคาจะถอยลงลึก จะมีสัญญาณทางเทคนิคแสดงออกมาให้เห็น เช่น เกิด EMA Dead Cross หรือ MACD ลงใต้น้ำ หรือ DMI เส้น DI minus ตัดขึ้นมาอยู่ข้างบน เป็นต้น ยังมีสัญญาณของ Indicator อีกหลายอย่างที่แสดงออกมา แต่สัญญาณเหล่านี้อาจเกิด False Signal ได้ ดังนั้นจึงต้องมีความเข้าใจการเกิดขึ้นของ Indicator ด้วย ไม่ใช่แค่ท่องจำตามที่เขาจำต่อกันมา และที่สำคัญมากกว่าคือการเคลื่อนไหวของราคาจะเห็นตัวแสดง Bearish Pattern ออกมาได้ดีที่สุด

การเกิด Bearish Pattern ของราคาจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนมาที่สุด เมื่อราคาลงทำ New Low ก็เป็นการยืนยันการเกิด Bearish Pattern แล้ว หรือในเรื่อง Price Pattern จะมีรูปแบบของราคากลับตัวต่างๆ (Reversal Pattern) เช่น Double Top, Triple Top, Head and Shoulder, Rising Wedge หรือ รูปแบบของราคาอื่น เช่น Bearish Flag, Triangle เป็นต้น ในการยืนยันการเกิดรูปแบบของราคาเห่ลานี้ จะต้องมีเส้นตรง ที่เป็นกรอบของ Pattern เป็นตัวกำหนดใช้ในการยืนยันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอะไร แต่ก็อยู่ในหลักการของการเกิด Break Out เส้นแล้วราคาเกิด Pullback จากนั้นราคาลง New Low อีกครั้ง

ดังนั้นเมื่อเกิด Confirm of Bearish Pattern เป็นการหลุดเส้นแนวสำคัญแล้ว ลง New Low ต่อ จึงเป็นสัญญาณ ที่มีการยืนยันว่าราคากำลังจะลงต่อ ก็เป็นการยืนยันว่า ควรขายได้แล้ว บางคนไปขายในช่วงที่ยังไม่ เกิดการ Confirm ยืนยัน คือขายในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจน ก็อาจจะพบกับความผิดพลาดที่ขายแล้ว ราคาไม่ลง แต่เด้งกลับ ก็ต้องกลับมาทบทวนแก้ไขตนเองกันใหม่


Wave Riders Pui


.
.
.

2 ความคิดเห็น: